ทำความรู้จักค่า Drawdown และการนำมาประเมินความเสี่ยงของการลงทุน

ตั้งแต่ Fund Factsheet ของกองทุนรวมแบบใหม่ถูกนำมาใช้  ภายในนั้นจะมีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ข้อมูลหนึ่ง ที่เรียกว่า Maximum Drawdown ซึ่งภาษาไทยจะเรียกว่า “ผลขาดทุนสูงสุด” ในรอบระยะเวลาที่สังเกตที่ผ่านมา ค่านี้จะแสดงผลเป็นค่าติดลบเสมอครับ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์  ค่านี้จะเอาไว้ใช้ประเมินความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เรากำลังพิจารณาลงทุนครับ   ในบทความนี้จะอธิบายว่า ทำไมค่า Maximum DrawDown นี้ มันถึงดูเข้าใจง่ายกว่า ค่าบ่งชี้ความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เราลงทุนค่าอื่นๆ เช่น SD (Standard Deviation) หรืออื่นๆ (คือผม มองว่ามันเข้าใจง่ายนะครับ คนอื่นๆ อาจจะมองตรงข้ามก็ได้นะ 555+)

เริ่มต้นชี้ให้เห็นเลยครับ ว่าค่า Drawdown นี้มันนิยามเป็นอย่างไร ดูจากภาพ chart ด้านล่างนี้จะง่ายสุดนะครับ ปกติ มูลค่าของสินทรัพย์นั้นๆ จะเปลี่ยนไปตามเวลา  แกน X คือ แกนของเวลา  แกน Y คือ แกนของ Net Asset Value ของสินทรัพย์นั้นๆ  จุดที่เกิด Drawdown คือ จุดที่อยู่ในภาพ สีแดงเข้มๆ ครับ

drawdown
ภาพจาก http://cdar.berkeley.edu/researcharea/drawdown-risk/

นิยามของ Drawdown คือ  ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นที่เรากำลังสังเกตดูย้อนหลังอยู่นั้น ราคาของสินทรัพย์นั้นๆ มีการปรับตัวลดลงต่ำสุด จากจุดสูงสุดที่ผ่านมา เท่าไรบ้างโดยจะคิดเป็นเปอร์เซ็นนะครับ  โดยสูตรการคำนวณคือ  เอา ( Valley Value – Peak Value ) หารด้วย Peak Value อีกที จากนั้นคูณด้วย 100 เพื่อให้ได้ค่าเปอร์เซ็นต์ออกมา สูตรนี้ยังไงก็ได้ค่า ติดลบ นะครับ

( (Valley Value – Peak Value) / Peak Value ) * 100.0

ถ้ามองข้อมูลอดีตย้อนหลัง 1 ปี , 3 ปี หรือ 5 ปี นั้น เราจะเห็นจุด Drawdown มากมายแน่นอนครับ ยกเว้นสินทรัพย์ประเภทที่มีแต่มูลค่าขึ้นตลอดนะครับ เช่นกลุ่ม Money Market Fund นะครับ อันนั้นน่าจะขึ้นตลอด แทบจะไม่มีค่า Drawdown ให้คำนวณ  ทีนี้เมื่อมีจุด Drawdown จำนวนมาก  จุดที่เราสนใจจริงๆ คือ  ในอดีตของสินทรัพย์ตัวนี้ มีจุด Drawdown สูงสุดอยู่ที่เท่าไร นั่นเอง หรือที่เรียกว่า Maximum Drawdown  ถ้าดูจาก Chart ด้านบน ก็จะเห็นฮะว่า  small drawdown นั้น มีขนาดเล็กกว่า  large drawdown นั่นเอง  ซึ่งจากรูปด้านบนนี้  large drawdown ตรงนั้นคือค่า Maximum Drawdown นั่นเอง

นั่นแปลว่า  ถ้าเรามองข้อมูลอดีตของกองทุนหรือหุ้นตัวนี้ๆ แล้ว  เราเห็นช่วงที่ขาดทุนสูงสุดกี่เปอร์เซ็นต์ นั้นจะทำให้เราเข้าใจความเสี่ยงได้ดีขึ้นมากพอสมควร  (เมื่อเทียบกับค่า SD: Standard Deviation) เพราะว่า เราจะเข้าใจค่า % Drawdown นั่นเอง ว่า ถ้ามันมีค่าอยู่ที่ -20%  นั่นแปลว่า  ถ้าเราลงทุนที่จุด Peak จำนวนเงิน 100 บาท และ เจอภาวะ Drawdown ที่ -20%  นั่นแปลว่า ที่จุดต่ำสุด เงินลงทุนเราจะเหลืออยู่ที่ 80 บาท นั่นเอง  คือตัวเลขค่านี้มันจะทำให้เราคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงินที่หายไปได้ (Unrealized Loss) ครับ ว่าเราจะรับไหวมั๊ยนะ

ทีนี้ โดยสถิติแล้ว เรามักจะไม่ได้ลงทุนอยู่ที่จุด Peak สักเท่าไรอยู่แล้วครับ (ยกเว้นซวยจริงๆ 5555+ ซึ่งบางคน อาจจะเคยมีประสบการณ์)  นั่นแปลว่า  ค่า Drawdown ถ้าเราลงทุนจริงก็อาจจะน้อยกว่าค่านี้ฮะ  ดังนั้น การเห็นค่า Maximum Drawdown นั้นเหมือนกับการที่เราได้เห็น ค่าขาดทุนสูงสุดในอดีตของสินทรัพย์นี้ๆ แล้ว ว่าอยู่ในระดับที่เรายอมรับได้หรือไม่ นั่นเอง  ก็เลยมักจะถูกนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง ในการลงทุนครับ

แต่ !!! ทั้งหมดนี้ คือ การวัดค่าข้อมูลที่อยู่ในอดีตนะครับ  อนาคตไม่มีใครสามารถทำนายได้ชัดเจนอยู่แล้ว  อาจจะเกิด Drawdown ที่เป็นค่าที่ใหญ่กว่าค่าเดิมในอดีตก็ได้เช่นกัน ฉะนั้นการติดตามการลงทุนในสินทรัพย์ที่เราลงทุนอยู่นั้น ยังคงเป็นเรื่องสำคัญครับ

ภาพต่อมาครับ ภาพ chart ด้านล่างนี้ จะชี้ให้เห็นค่าอีกค่าหนึ่ง ที่เอาไว้ประเมินร่วมกันครับ  นั่นคือ Recovery Time นั่นเอง ซึ่งมันคือ จำนวนวันทั้งหมดที่ สินทรัพย์นั้นๆ เกิดค่า Drawdown แล้ว ต้องใช้ระยะเวลาทั้งหมดกี่วัน ถึงจะกลับมา เท่าทุน นั่นเอง

maxdur1
ภาพจาก https://www.mutualfundobserver.com/2014/08/recovery-time/

จากที่ผมเห็นข้อมูลมา  ก็มีหลายสินทรัพย์ที่ใช้ระยะเวลา ไม่กี่สิบวัน  บางสินทรัพย์ก็ใช้ระยะเวลา ไม่กี่ปี (หลายร้อยวัน) ถึงจะกลับมาคืนทุนเท่าเดิมนะครับ  ก็จะหลากหลายกันไป แล้วแต่ช่วงจังหวะ

อ่านถึงจุดนี้จะเข้าใจกันแล้วนะครับว่าค่า Drawdown เหล่านี้โดยส่วนตัวผมมองว่า เป็นค่าที่มีประโยชน์แก่การนำมาพิจารณาคัดเลือก สินทรัพย์เพื่อการลงทุนพอสมควรครับโดยมองในมุมของความเสี่ยงนะครับ ว่าเราจะรับ ค่าขาดทุนสูงสุด “ในอดีต” ของสินทรัพย์นั้นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน  รับได้หรือไม่  เพราะเวลาเราเลือกลงทุนใดๆ นั้น แน่นอนว่า เราจะมองทั้ง Reward (ผลตอบแทน) และ Risk (ความเสี่ยง) เสมอๆ  ดังนั้นใน FIN App กองทุนรวม version ใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ (วันนี้วันที่ 16 September 2018 ยังไม่ได้เอาขึ้น App Store นะครับ แต่อีกไม่นานจากนี้จะขึ้นครับ)  จะมีข้อมูลเหล่านี้ให้ดูประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกัน  โดยตัวอย่างหน้าจอจะเป็นดังภาพด้านล่างนี้ครับ

IMG_9670
Download ได้ที่  https://bit.ly/fin_app   หรือ   https://apple.co/2xlw3B3

 

วิธีการใช้คือ กดเข้าดู Fund Profile ที่ต้องการ จากนั้นกดที่ Tab ที่เขียนว่า Chart ครับ  (ตามภาพด้านบน) ทีนี้ โดยปกติที่หน้า Chart ก็จะแสดง กราฟของ NAV ตามช่วงระยะเวลาย้อนหลังต่างๆ ตามที่ต้องการ  แต่ใน version ใหม่นี้ จะแสดงค่า Drawdown ได้ด้วย โดยการกดที่ปุ่ม DD ครับ  แล้วจะแสดง NAV พร้อมกับ แถบ Drawdown ต่างๆ ให้เห็นกันชัดๆ เลยครับ ว่า จุด Peak อยู่ที่วันไหน Valley วันไหน และ Recovery วันไหน ใช้ระยะเวลาเท่าไร อย่างชัดเจน

นอกเหนือไปจากนั้นก็จะแสดง Drawdown ย่อยอื่นๆ ด้วยครับ  ตาม List ด้านล่างของหน้าจอเลยฮะ เราก็จะเห็นจุด Drawdown อื่นๆ ที่ไม่ใช่ Maximum Drawdown ไปด้วยเช่นกันฮะ เรียกได้ว่า มาครบครันเลยทีเดียว สำหรับ version ใหม่ นี้

ปิดท้ายบทความนี้ ด้วยเรื่องของ ค่าความเสี่ยง ตรงนี้อีกรอบนะครับ ว่า การขาดทุนใดๆ ถ้าต้องการแก้ไขกลับคืนให้มาอยู่จุดเดิม ถ้ายิ่งขาดทุนมาก เราต้องลุ้นกันตัวโก่งและเหนื่อยมากในการให้มันกลับมาเท่าทุน ดังนั้นแล้ว  ให้พึงระวังไว้เสมอนะครับ จากภาพด้านล่างนี้จะเห็นชัดครับ ว่ายิ่งปล่อยขาดทุนมาก จะต้องทำกลับคืนมาที่เท่าไรแค่ไหน นะครับ ลองดูฮะ

Losses
ภาพจาก https://cleonalira.co.uk/why-you-should-care-about-losses/

ยกตัวอย่างนะครับ เราลงทุนในสินทรัพย์ตัวหนึ่งที่ 100 บาทนะครับ จากนั้นเราปล่อยขาดทุนไป 50% มูลค่าเราจะเหลืออยู่ที่ 50 บาท ครับ  จากนั้น ณ จุดนั้นเอง การย้อนกลับไปที่ 100 บาท เพื่อให้ได้เท่าทุน   ณ จุดที่เรามีเหลืออยู่ 50 บาทนั้น เราต้องการอีก 50 บาท เพื่อให้กลับไปที่จุดเดิม   นั่นแปลว่า ณ จุดนั้นๆ เราต้องการ ให้มัน บวก (gain) ไปอีก 50 บาท คิดเป็น 100% จากจุด 50 บาท นั่นเอง   ซึ่ง มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ที่จะทำให้เกิดแบบนั้นได้บ่อยๆ  ดังนั้นปิดท้าย คือ  ให้ระวังเรื่อง Risk Loss ดีๆ กันนะครับ นักลงทุน  เราควรจะรู้จุดหยุดของเราเหมือนกันฮะ

One thought on “ทำความรู้จักค่า Drawdown และการนำมาประเมินความเสี่ยงของการลงทุน

Leave a Reply